เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ กำลังเป็นกระแสที่นิยมและพูดถึงมาตลอดในหมู่ผู้ที่รักสุขภาพทั้งหลาย ตั้งแต่อาหารชีวจิต การ การรับประทานอาหารแบบคีโตเจนิก การกินอาหารแบบ Intermittent Fasting การรับประทานผักออร์แกนิค หรือผลไม้ประเภทที่ให้สารพฤกษเคมี (Phytochemicals) ซึ่งเป็นสารชีวภาพที่พบในพืชผักผลไม้บางชนิด ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่า สารพฤกษเคมีเหล่านี้ช่วยป้องกันโรคบางชนิดได้ เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น
ประเทศไทยเรามีผลไม้หลายชนิด สามารถเลือกรับประทานตามฤดูกาลได้ตลอดทั้งปี เพื่อรู้จักและเข้าใจสารพฤกษเคมีในผลไม้ จึงขอจำแนกผลไม้ตามสีต่างๆ ดังนี้
ผลไม้กลุ่มสีแดง เช่น แตงโม มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ กระเจี๊ยบแดง พริกแดง บีทรูท ฟักข้าว ฯลฯ มีสารพฤกษคมีที่ชื่อว่า ไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดี ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ เนื่องจากทางการแพทย์ได้พิสูจน์แล้วว่า ไลโคปีน ช่วยชะลอความเสื่อมความอักเสบของเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เพิ่มการเผาผลาญไขมันช่วยลดปริมาณไขมันตัวเลว (LDL) ในเลือด ช่วยลดการเจ็บป่วย และช่วยเรื่องระบบการไหลเวียนของเลือด
ผลไม้กลุ่มสีเหลือง / สีส้ม เช่นฟักทอง มะม่วงสุก มะละกอสุก กล้วย แคนตาลูปสีเหลือง สับปะรด แครอท ฯลฯ มีสารพฤกษคมีที่ชื่อว่า เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ช่วยบำรุงสุขภาพของดวงตา ทำให้ตามีความสามารถในการมองเห็นในตอนกลางคืนได้ และยังลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา และลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกด้วย ช่วยชะลอความแก่ ช่วยบำรุงรักษาผิวพรรณ ป้องกันผิวเหี่ยวย่น ไม่ผ่องใส จากรังสีอัลตราไวโอเลตที่มากับแสงแดด และยังช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทานในร่างกายที่ชื่อ ที-เฮลเปอร์ให้ทำงานต้านสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้นในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็ง
ผลไม้กลุ่มสีเขียว เช่น องุ่นเขียว แอปเปิ้ลเขียว แตงกวา ฝรั่ง อะโวคาโด มะกอกน้ำ ฯลฯ มีสารพฤกษคมีที่ชื่อว่า คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) และยังมีแร่ธาตุอื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น ซีแซนทีน ธาตุเหล็ก แคลเซียม และวิตามินบี 2 ที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต มีส่วนช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า ลดเลือนรอยคล้ำรอบดวงตา เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับร่างกาย ลดอาการภูมิแพ้ โรคหอบหืด แพ้อากาศ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
ผลไม้กลุ่มสีขาว / สีน้ำตาล เช่นกระเทียม กะหล่ำปลี หอมหัวใหญ่ เห็ด ลูกเดือย งาขาว ฯลฯ มีสารพฤกษคมีที่ชื่อว่า อัลลิซิน (Allicin) มีประโยชน์ช่วยต่อต้านแบคทีเรีย ต้านจุลชีพ ช่วยลดการติดเชื้อในร่างกาย ป้องกันโรคไข้หวัดได้ดี ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ลดความดันโลหิตในร่างกาย ลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ลดโอกาสในการเกิดเบาหวาน เนื่องจากสารอัลลิซิน จะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินที่ถูกสร้างขึ้นจากตับ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งจะช่วยบรรเทาและลดอาการการเกิดโรคภูมิแพ้
ผลไม้กลุ่มสีน้ำเงิน / ม่วง เช่น องุ่น มะเขือม่วง กะหล่ำปลีม่วง บีทรูท บลูเบอร์รี่ ชมพู่ม่าเหมี่ยว ลูกหว้า ลูกไหน ลูกพรุน ฯลฯ มีสารพฤกษคมีที่ชื่อว่า แอนโทไซยานิน (Anthocyanin)และกลุ่มโพลิพีนอล (Polyphenol) สามารถใช้เป็นสีย้อมอาหาร ใช้ทำสบู่ ใช้เป็นส่วนผสมของแชมพูและครีมนวดผม และเป็นส่วนผสมของสารกันแดด เพราะสารนี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และโรคมะเร็ง
ผลไม้เหล่านี้ มีสารพฤกษเคมีที่เป็นประโยชน์มากมายมหาศาล ดังนั้น เราควรเลือกรับประทานผลไม้ 3-4 ส่วนต่อวัน ซึ่ง ผลไม้ 1 ส่วนจะเท่ากับ 6 ถึง 10 คำพอดี ๆ และสลับสับเปลี่ยนกันไปในแต่ละวัน เพื่อจะได้ประโยชน์จากสารพฤกษเคมีอย่างครบถ้วน