มนุษย์เราพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ รอบตัวให้ก้าวหน้าทันโลกอยู่เสมอ เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ทำงาน และป้องกันอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ในระหว่างที่เรากำลังปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เชื้อโรคเองก็มีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้เกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่อุบัติซ๊ำ ที่อาจคร่าชีวิตของมนุษย์ได้ แม้ว่าเราจะมีวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ทันสมัยก็ตาม
โรคติดเชื้อหลายโรค หรือโรคติดต่อชนิดใหม่ๆ ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะประมาณ ๒๐ ปีที่ผ่านมาหรือโรคติดต่อที่มีแนวโน้มว่าจะพบเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในที่ใดที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกที่หนึ่ง เราเรียกว่าโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคเอดส์ โรคติดต่อจากสัตว์ปีกหรือไข้หวัดนก เป็นต้น ส่วนโรคติดเชื้อที่เคยแพร่ระบาดแล้วหายไปแต่กลับมาระบาดใหม่ เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่เกิดการดื้อยาในภายหลัง เราเรียกว่า โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ เช่น วัณโรคที่ดื้อยา โรคติดเชื้อทั้งสองประเภทนั้นเกิดได้จากเชื้อโรค ๕ กลุ่ม คือ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อปรสิต เชื้อไวรัส
ก่อนจะเข้าสู่ปี 2563 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เคยคาดการณ์โรคที่ต้องเฝ้าระวัง หนึ่งในนั้น คือ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทั้งปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงอาจารย์แพทย์รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เคยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 ทั่วโลกจะต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสอย่างแน่นอน ซึ่งในความเป็นจริง ยังไม่ทันพ้นเดือนมกราคมของปี 2563 ก็เป็นตามคาดการณ์ สืบเนื่องจากการพยากรณ์โรคที่มีการคำนวณตามแนวโน้มการระบาด ทำให้ทราบว่าโรคระบบทางเดินหายใจจะเป็นโรคที่พบเจอได้แน่นอน แต่โรคระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนแรกของปีครั้งนี้ไม่ใช่โรคอุบัติซ้ำ แต่เป็นโรคอุบัติใหม่ ในชื่อ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศชื่อที่เป็นทางการสำหรับใช้เรียกโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า “โควิด-ไนน์ทีน” (Covid-19) และหากจะพูดถึงความร้ายแรงของโรคอุบัติใหม่นี้ ทีมนักวิจัยประเมินว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 1,000 คน มีผู้เสียชีวิต ราว 5-40 คน หากจะระบุตัวเลขคาดการณ์ที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีกก็คือ 9 คน ในผู้ติดเชื้อ 1,000 คน หรือเกือบ 1% แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งเรื่องของอายุ เพศ สุขภาพโดยทั่วไป และระบบสาธารณสุขที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการ
คำแนะนำที่ดีที่สุดจาก องค์การอนามัยโลกคือ เราสามารถป้องกันตัวเองจากไวรัสที่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจทุกชนิดได้ด้วยการล้างมือ เลี่ยงการเข้าใกล้คนที่ไอหรือจาม และพยายามอย่าสัมผัสตา จมูกและปาก และสำหรับโรค Covid-19 ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมหลักเป็นแอลกอฮอล์ 70 % ขึ้นไป, รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร , สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน , ไม่สัมผัสตา จมูก หรือปาก, ปิดจมูกและปากด้วยข้อพับด้านในข้อศอกหรือกระดาษชำระเมื่อไอหรือจาม, เก็บตัวอยู่บ้านเมื่อไม่สบาย, หากมีไข้ ไอ และหายใจลำบากโปรดไปพบแพทย์ , ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่, หลีกเลี่ยงการไปสถานพยาบาลเพื่อให้บุคลากรในระบบสาธารณสุขปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องคุณ รวมถึงคนอื่นๆ ด้วย